ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งต่อขยะพลาสติก ‘Upcycling’ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ - didierstyle

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งต่อขยะพลาสติก ‘Upcycling’ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ



ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ 4 หน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จัดกิจกรรม “ขอบคุณที่ทิ้งกัน” ภายใต้โครงการรณรงค์ลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก “คุณทำได้ เลิกใช้พลาสติก” ส่งต่อขยะพลาสติกจำนวน 4,386.31 กิโลกรัม เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 582.23 ต้น มอบให้องค์กรจัดการขยะพลาสติก นำไปสร้างมูลค่าใหม่ด้วยการ Upcycling เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย และนำส่วนที่แปรรูปไม่ได้ไปเป็นพลังงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนช่วยลดมลภาวะและลดปริมาณขยะให้กับประเทศไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ของรัฐบาล และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ ที่รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และสนองนโยบายรัฐบาลในการจัดการขยะพลาสติกที่จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

ปัญหาขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาที่คุกคามสิ่งแวดล้อมโลกมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะพลาสติกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวหรือ Single Use ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในฐานะสถาบันการศึกษาและสถาบันการแพทย์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้เนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน จึงริเริ่มกิจกรรม “ขอบคุณที่ทิ้งกัน” ภายใต้โครงการรณรงค์ลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก “คุณทำได้ เลิกใช้พลาสติก” โดยมีจุดมุ่งหมายในการปลูกจิตสำนึก รณรงค์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กร ให้ลดการใช้พลาสติกและสามารถแยกประเภทของขยะพลาสติกก่อนส่งต่อไปยังองค์กรจัดการขยะพลาสติกได้อย่างถูกต้องมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 เดือนของการจัดบูธกิจกรรม จำนวน 58 ครั้ง มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน นำขยะพลาสติกจำนวน 4,386.31 กิโลกรัมมาทิ้งกับกิจกรรม


ขยะพลาสติกเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังองค์กรปลายทาง เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการแปรรูปขยะพลาสติกให้มีมูลค่าใหม่ โดยองค์กร 3 แห่ง ได้แก่ โพธิ์สิกขา ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของวัดจากแดง, Zero Waste YOLO, และ Precious Plastic Bangkok และนำไปเป็นพลังงานให้กับโรงไฟฟ้า คือ N15 เทคโนโลยี โดยทาง Zero Waste YOLO นำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นสินค้า ได้แก่ พลาสติกประเภท PET, HDPE, LDPE, PP, PS และพลาสติกทั่วไปที่มีเลข 7 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล รวมถึงขยะพลาสติกที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดเลย ซึ่งสินค้าที่จัดทำ ได้แก่ ที่รองแก้ว กระถางต้นไม้ และต่อยอดไปยังสินค้ามูลค่าสูงประเภทแฟชั่น ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า และเครื่องประดับร่วมกับแบรนด์ไทย “ภิพัชรา” ที่วางจำหน่ายในศูนย์การค้าชั้นนำและเคยนำไปแสดงในงานปารีสแฟชั่นวีคมาแล้ว 

โดย คุณเกศทิพย์ หาญณรงค์ ผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า “นโยบายเรื่องการลดใช้พลาสติกนี้ จริง ๆ มันมีคำว่าสมัครใจซึ่งหลายองค์กรจะไม่ทำก็ได้ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำและทำอย่างยั่งยืน กิจกรรมดีมากเพราะอย่างน้อยเราดึงพลาสติกที่เป็นขยะแฝงในขยะทั่วไปออกมา ช่วยลดขยะที่ไปสู่หลุมเทกองได้ส่วนหนึ่ง แค่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทางโครงการส่งต่อขยะพลาสติกมาให้หลายร้อยกิโลกรัมแล้ว ถ้าทำต่อไปเรื่อย ๆ แล้วขยายออกไปยังชุมชนได้ ก็จะส่งผลต่อสังคมได้” ส่วน Precious Plastic Bangkok ที่นำขยะพลาสติกไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ชิ้นเล็ก เช่น เก้าอี้ ที่วางมือถือ ที่วางโน้ตบุ๊ค เป็นต้น คุณสุประดิษฐ์ พึ่งผล เจ้าหน้าที่ประสานงานกิจกรรมโครงการ กล่าวว่า “เรานำขยะพลาสติกที่คนทั่วไปมองว่ามีราคาถูก มาเพิ่มมูลค่าด้วยการมาแปรรูปเป็นสินค้าใหม่ และต่อยอดไปยังชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนนั้น ๆ ด้วย”



ขณะที่พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง ซึ่งดูแลศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม โพธิ์สิกขา ที่รับพลาสติกประเภท PET จากโครงการนี้เป็นปีที่สองแล้ว มองว่า “การแยกขยะไม่ได้แค่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น แต่ยังส่งผลถึงสุขภาพโดยรวม กิจกรรมนี้ไม่ได้แค่สอนให้คนรู้จักการคัดแยกขยะ แต่กำลังสอนให้คนรู้จักการนำเอาขยะมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือมองขยะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหรือสิ่งของต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนของไร้ค่าให้มีคุณค่าขึ้นมา” ส่วนขยะพลาสติกที่ไม่สามารถแปรรูปได้ คุณสมบูรณ์ กิตติอนงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท N15 เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า “ขยะที่ได้รับจากโครงการฯ นำไปหลอมเป็นพลังงานเชื้อเพลิงโดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

จากกิจกรรมเล็ก ๆ เริ่มต้นจากความร่วมมือกันภายในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “ขอบคุณที่ทิ้งกัน” ขยายออกสู่ภายนอกโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้ง ๔ หน่วยงานในพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ผลลัพธ์จากกิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่การลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งร่วมกับขยะทั่วไปตามบ้าน แต่ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังนิสัยของการแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภท ช่วยลดการเผาหรือการฝังกลบจึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และส่งผลให้ลด Carbon Footprint เท่ากับเราปลูกต้นไม้ไปแล้วประมาณ ๕๘๒.๒๓ ต้น นอกจากนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยโลกใบนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ของรัฐบาล ซึ่งพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ส่งผลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Pages