เป็นประเด็นที่น่าสนใจกับการลดก๊าซมีเทนเพื่อลดผลกระทบทางด้านนิเวศวิทยา โดยเฉพาะปัญหา “ภาวะโลกร้อน” โดย นิติพล ผิวเหมาะ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ก๊าซมีเทน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือ การปลูกข้าวในรูปแบบปกติสามารถทำให้เกิดมีเทนได้ด้วย เนื่องจากว่า นาปกติจะปล่อยให้มีน้ำขังเป็นระยะเวลานาน กระบวนการนี้จะเกิดการหมักและย่อยสลายโดยแบคทีเรีย จึงทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก ซึ่งมีเทนที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะส่งผลให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27 เท่าเลยทีเดียว
สำหรับพื้นที่ภาคกลาง คงเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากด้วยฤดูกาล เมื่อน้ำมาพื้นที่นาซึ่งก็คือแก้มลิงธรรมชาติในการกักเก็บน้ำที่นาข้าวก็เติบโตไปพร้อมกัน เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำหลากตามฤดูกาล แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ผมคิดว่าเราสามารถนำการทำนาแบบ 'เปียกสลับแห้ง' ได้ นั่นคือ การไม่ปล่อยให้น้ำขังอยู่ในพื้นที่นาตลอดเวลา
ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับข้าว เพราะที่ผ่านมาอาจมีภาพจำเดิมว่าต้องมีน้ำขังตลอด แต่ความจริงแล้วข้าวไม่ใช่พืชที่ต้องมีน้ำขังตลอดเวลาก็ได้ ปัจจุบันมีหลายพื้นที่เริ่มทดลองปลูกแบบสลับ เช่น เปียก 5 สัปดาห์ ปล่อยแห้ง 5 สัปดาห์ วนสลับไป 2-3 รอบ ผลผลิตที่ออกมายังคงมีคุณภาพดี แต่ที่ได้กลับมาด้วยก็คือ ก๊าซมีเทนลดลงไป 30% จากการปลูกแบบเดิม
อีกประการหนึ่งคือ ช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก เพราะไม่ต้องคอยเติมน้ำเข้านาให้เต็มตลอดเวลายิ่งในสองรอบการผลิตนี้ถ้าจำกันได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยนำข้อมูลปรากฏการณ์เอลนีโญมานำเสนอว่าจะทำให้ประเทศไทยทั้งร้อนและแห้งแล้งยาวนาน ดังนั้น การออกแบบการจัดการน้ำสำหรับการเกษตรจึงจำเป็น ซึ่งแนวทางการปลูกแบบเปียกสลับแห้งจะทำให้เราสามารถประเมินวงรอบและปริมาณการใช้น้ำได้ด้วย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาคือ จากการลดมีเทนได้จริง ปัจจุบันบริษัทรับซื้อคาร์บอนเครดิตต่างๆ สามารถใช้เทคโนโลยีผ่านดาวเทียมที่วิเคราะห์ความสว่างของข้าวแต่ละนาได้ว่าใช้กรรมวิธีการปลูกแบบใด ซึ่งราคาคาร์บอนเครดิตของข้าวที่ปลูกแบบเปียกสลับแห้งสามารถขายได้ราคาดีกว่านาแบบน้ำท่วมปกติมากครับ นี่จึงเป็นแรงจูงใจใหม่ๆ ควรขยายความเข้าใจให้มากขึ้น
แต่ประเด็นที่น่าเสียดายคือ ราคาขายในประเทศไทยยังคงต่ำกว่าตลาดโลกรับซื้อทั่วไปมาก เกษตรกรยังไม่รู้ช่องทางที่จะขายโดยตรง ต้องทำผ่านตัวกลาง ทำให้ราคาถูกกดลงหรือเป็นช่องทางหาประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน ซึ่งผมเตรียมผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผมเชื่อว่าการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตเสรี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นแรงจูงใจในการปรับตัวสู่การทำเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งในอนาคตก็จะมากขึ้นกว่านี้ด้วย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น