ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก และ ดร.เดนนิส แคร์รอล ประธานโครงการ Global Virome Project ร่วมกันเปิดตัว การจัดตั้ง สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับบัณฑิตศึกษารูปแบบใหม่ล่าสุด พร้อมเปิดรับนิสิต นักศึกษาจากทุกมุมโลก จากหลากหลายศาสตร์ ที่สนใจการทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาท้าทายของสุขภาพโลก เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก โดยมีการเปิดตัวผ่านการถ่ายทอดสดทางแฟนเพจ Graduate Affairs Faculty of Medicine, Chulalongkorn University
จากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนา COVID-19 สะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุข อย่างเร่งด่วน ไม่เพียงแต่โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคเขตร้อนเท่านั้น ที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของสังคม และระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ยังมีโรคไม่ติดต่ออีกมากมาย เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต ที่เป็นปัญหาต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งก่อความเจ็บป่วย และความยากลำบากในการดำรงชีวิตของประชาชน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เตรียมระดมคณาจารย์และนักวิจัย มาทำงานเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์ปัญหาท้าทายเหล่านี้ โดยได้จัดตั้งสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health – SGH) ขึ้น
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้บุกเบิกการจัดตั้งสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก กล่าวว่า ขณะนี้ โลกต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ เรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติรูปแบบที่มีความซับซ้อนและความไม่แน่นอน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคมมากกว่า 70 ปี พร้อมทั้งได้สั่งสมความเข้มแข็งทางวิชาการ และมีประสบการณ์จากการทำงานจริง สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดังเช่น การค้นพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 รายแรกในพื้นที่นอกประเทศจีน และการวิจัยพัฒนาวัคซีน โควิด-19 อย่างเข้มข้นในขณะนี้ เพื่อเป็นฐานความมั่นคงของประเทศ
เรามีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนต่อยอดความรู้และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์และนักวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่พร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาสุขภาพโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยการทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย และต่อเนื่องกับผู้มีประสบการณ์ในศาสตร์ต่างๆ จากสถาบันพันธมิตรและทุกภาคส่วนทั่วโลก สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลกมุ่งมั่นที่จะเติมเต็มช่องว่างและสร้างความเชื่อมโยง บูรณาการข้ามศาสตร์ เปิดเวทีการจัดการและแบ่งปันความรู้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความเท่าเทียมทางสุขภาพอย่างแท้จริง
สำหรับการเปิดตัวสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health – SGH) ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก Dr. Dennis Carroll ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน Leadership Board ของโครงการ Global Virome Project และเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการของสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก โดยได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “Preventing the Next Pandemic: The Power of Global Health Security and Collaboration” ในครั้งนี้ด้วย
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นักวิจัยชั้นนำของประเทศไทย ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความรู้สึกของการมาร่วมดำเนินการเป็นผู้อำนวยการ สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลกว่า นักวิชาการและมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญมาก เราต้องก้าวและเสริมกำลังไปด้วยกัน เพื่อช่วยประเทศเตรียมความพร้อมรองรับในทุกด้าน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศน์ของการทำงานและการสนับสนุน การวิจัย และการสร้างกำลังคนที่มีความรู้และทักษะตอบสนองกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และนี่เป็นเป้าหมายสำคัญของสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก
การจัดตั้งสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก มีเป้าหมายในการเป็นแพลตฟอร์มรวมการบริหารหลักสูตรนานาชาติ เพื่อยกระดับหลักสูตรบัณฑิตศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เสริมกำลังคนที่มีสมรรถนะ และศักยภาพสูงให้ตรงกับความต้องการของสังคมในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลสุขภาวะ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสร้างระบบและเครือข่ายทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากทุกภูมิภาคของโลก ในการตอบโจทย์ที่ท้าทายด้าน Global Health รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และยังป็นแหล่งเชื่อมโยงเครือข่ายและองค์กรทั้งในระดับประเทศและนานาชาติที่เอื้อต่อการผลิตอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักสูตรและการเรียนการสอนต่างๆ ครอบคลุมความรู้ที่เป็นปรัชญาของสถาบัน คือ โรคอุบัติใหม่และโรคเขตร้อน (Emerging Infectious Diseases and tropical medicine), โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable Diseases) และ นโยบายสาธารณสุข (Health Systems) แบ่งเป็น …
ระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เช่น สาขาวิชาเวชศาสตร์คลินิก, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สาขาวิชาการพัฒนาสุขภาพ
ระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เช่น สาขาวิชาเวชศาสตร์คลินิก, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และชีวเทคโนโลยี เป็นต้น โดยจะเปิดรับนิสิต นักศึกษาในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่สนใจเพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก เข้าหลักสูตรนานาชาติในแขนงต่างๆ ทางด้านสุขภาพโลก “รุ่นแรก” เดือนสิงหาคมปีนี้
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุณฑริกา พงษ์นิวัติเจริญ โทร. 02-2564475 ต่อ 15 อีเมล school.global.health@chula.md หรือเว็ปไซต์ https://sgh.md.chula.ac.th และรับชมคลิปวิดีโอการเปิดตัวย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/grad.md.chula/videos/1057297041745026
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น