สสส.จับมือภาคีเครือข่ายถ่ายถอดประสบการณ์งานช่วยเลิกบุหรี่ - didierstyle

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สสส.จับมือภาคีเครือข่ายถ่ายถอดประสบการณ์งานช่วยเลิกบุหรี่




โครงการสนับสนุนและสื่อสารการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอการขับเคลื่อนระบบบริการเลิกบุหรี่ "สานพลังเครือข่าย บริการเข้าถึงง่าย เสริมแรงใจเลิกบุหรี่” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรับทราบผลการขับเคลื่อนโครงการเลิกบุหรี่ในองค์กรต่างๆ ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและต่างจังหวัด ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรับบริการ รับคำปรึกษา พร้อมพัฒนาระบบการให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ จนนำมาสู่การดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้ประชาชนสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เป็นรูปธรรม 

พร้อมกันนี้ยังมีการนำเสนอโครงการจากพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งโครงการ One Stop Service จากจังหวัดสงขลา บริการเชิงรุกจากจังหวัดลพบุรี และคลินิกทันตกรรมเลิกบุหรี่ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายในการเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. เป็นประธานเปิดงาน 


นพ.คำนวณ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนต่างมีคนใกล้ตัวที่เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต จากการสูบบุหรี่ ซึ่งการขับเคลื่อนงานด้านการช่วยเลิกบุหรี่ มีหัวใจสำคัญ คือ ต้องสานพลังเครือข่ายเพื่อให้บริการเข้าถึงง่าย และเสริมแรงใจช่วยในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่

ทั้งนี้ คำว่า “เสริมแรงใจ” เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเลิกบุหรี่นั้นเกิดจากการเจ็บป่วย แต่คนในครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการเลิกบุหรี่ และหากทุกภาคส่วน ทั้งคลินิกชุมชน ที่ทำงาน สานพลังความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเทคนิคให้คนเลิกบุหรี่ อาจทำให้มีผู้เลิกบุหรี่จากปัจจุบันที่มีจำนวน 130,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,300,000 คน ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง จะต้องมีระบบการบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่ง สสส. ได้ทำหน้าที่สนับสนุนภาคีเครือข่าย ที่ถนัดในแต่ละด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องการเลิกบุหรี่

“การเลิกบุหรี่จะทำให้มีอายุยืนขึ้นอีก 18 ปี หากเลิกบุหรี่ตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาส เลิกได้ดีกว่าด้วย” นพ.คำนวณ ย้ำทิ้งท้าย 


ในขณะที่ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอการขับเคลื่อนระบบบริการเลิกบุหรี่ "สานพลังเครือข่าย บริการเข้าถึงง่าย เสริมแรงใจเลิกบุหรี่" เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนระบบบริการเลิกบุหรี่ นางสาวดาวรุ่ง งามเลิศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี กล่าวถึงบริการเลิกบุหรี่เชิงรุก : การขยายบริการคลินิกฟ้าใสลงไปสู่ระดับชุมชน โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ในชุมชนสระโบสถ์ พบผู้ที่สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 27 และเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ เมื่อเข้าไปทำความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงต้นตอปัญหา ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวมากขึ้น 

พร้อมยอมรับว่า การดำเนินงานของคลินิกฟ้าใสในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อาจเพราะทำในโรงพยาบาล แต่เมื่อปรับการทำงาน มาดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เตรียมความพร้อม เพิ่มศักยภาพของภาคีเครือข่าย และใช้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ช่วยรณรงค์เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ส่วนการดำเนินการกลางน้ำ คือ ลุยแบบเชิงรุก ลงพื้นที่ชุมชน จัดกิจกรรมผ่าน อสม. ในวัด โรงเรียน และชุมชน สร้างกระแสชวนคนเลิกบุหรี่ ตลอดจนการดำเนินการปลายน้ำ คือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำผู้ที่เลิกได้ มาเป็นแกนนำและเชิดชูเกียรติให้เกิดความภาคภูมิใจ

นางสาวดาวรุ่ง
กล่าวด้วยว่า จากการทำงานพบว่า การทำให้ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ เข้าถึงการบริการได้ง่าย โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลนั้น จะต้องทำให้คนสนใจเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น ขณะที่นวัตกรรมที่ใช้ในการช่วยลดอาการอยากบุหรี่ของคลินิกฟ้าใส โรงพยาบาลสระโบสถ์ คือ ยาอมหญ้าหมอน้อย 


ด้าน นางวิลาวัณย์ มัชฌิกะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา มีการให้บริการเลิกบุหรี่มาตั้งปี 2549 ซึ่งการดำเนินการเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการซักประวัติเพื่อคัดกรองผู้ป่วย และหลังจากเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2549 - 9 กรกฎาคม 2561 มีผู้เข้ารับบริหารในโครงการคลินิกเลิกบุหรี่ 69 ราย แม้ไม่มีรายงานผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้ติดต่อกัน 6 เดือน แต่จำนวนผู้ขอเข้ารับบริการกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต่อมาในเดือนธันวาคม 2561 ได้มีการเข้าร่วมโครงการ One Stop Service เพื่อการเลิกบุหรี่สำหรับผู้ป่วยนอก โดยมีการวางระบบบริการ การให้คำปรึกษา ติดตามประเมินผล และพัฒนาการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนความสำเร็จของโครงการเลิกบุหรี่ One Stop Service คือ การใช้คำพูดที่สร้างแรงจูงใจ และให้ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ มีความภูมิใจในตนเอง ยึดผู้ที่อยากเลิกบุหรี่เป็นศูนย์กลาง ทำงานอย่างประสานร่วมมือกัน ทำให้ได้รับความไว้ใจจากผู้ที่เข้ามารับการบริการ



ขณะที่ ทันตแพทย์หญิงชวาศรี พูนวุฒิกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงคลินิกทันตกรรมสนับสนุนบริการเลิกบุหรี่ว่า การทำงานของคลินิกทันตกรรมสนับสนุนบริการเลิกบุหรี่ จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการซักประวัติของผู้เข้ารับบริการ เมื่อเข้าตรวจ ทันตแพทย์มีส่วนสำคัญในการชี้ให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่เห็นว่า บุหรี่นั้นทำลายสภาพในช่องปาก มีโอกาสเกิดพยาธิสภาพมากกว่าคนปกติ มีรอยสีขาวที่อาจทำให้เกิดก้อนเนื้อร้ายต่อไป

นอกจากนี้ทันตแพทย์ จะให้ผู้ที่เข้ารับบริการส่องกระจก และพูดโน้มน้าวให้เห็นถึงข้อเสียที่มีต่อร่างกายและช่องปากจากการสูบบุหรี่ และผลการคัดกรองผู้ป่วยในคลินิกทันตกรรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 - กันยายน 2563 มีผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ติดต่อกัน 6 เดือน 4.76% ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ส่วนใหญ่ ต้องการทำเพื่อครอบครัวและลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อบุหรี่

ทันตแพทย์หญิงชวาศรี
กล่าวด้วยว่า กลุ่มที่น่าสนใจคือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูบบุหรี่ อายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีความเสื่อมของร่างกาย เมื่อสูบบุหรี่จึงยิ่งทำให้สุขภาพช่องปากแย่ลง นอกจากนี้ คลินิกทันตกรรมสนับสนุนบริการเลิกบุหรี่ ยังดำเนินการให้ความรู้กับกลุ่มเยาวชนในโรงเรียน เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ผ่านการใช้กระต่าย โนโน่ เป็นตัวแทนของการปฏิเสธการสูบบุหรี่ รวมทั้งมีเกมส์ ให้นักเรียนได้ตอบคำถาม เพื่อชิงรางวัลอีกด้วย







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Pages